รายละเอียดหนังสือ
หนังสือ “คติเรื่องราชาในจารีตวัฒนธรรมไทย” มุ่งวิเคราะห์และทำความเข้าใจเชิงวิชาการเกี่ยวกับคติเรื่องราชา (Rājā) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ดำรงอยู่และส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งให้กับวัฒนธรรมไทยในมิติต่าง ๆ มาอย่างยาวนานทั้งในด้านโบราณราชประเพณี การเมืองการปกครอง สังคม และศิลปวัฒนธรรม แม้คติเรื่องราชาจะเป็นอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียสมัยโบราณทั้งคติฝ่ายพุทธศาสนาและคติฝ่ายพราหมณ์ - ฮินดู ทว่า เมื่อชนชั้นปกครองของไทยในอดีตได้เลือกปรับแนวความคิดดังกล่าวให้สอดรับกับปัจจัยและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ในสังคมขณะนั้น กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป คติเรื่องราชาจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ การศึกษาค้นคว้าใน “คติเรื่องราชาในจารีตวัฒนธรรมไทย” วิเคราะห์ผ่านกรอบความคิด 3 ประการคือ 1.มโนทัศน์เรื่องธรรมราชา 2.มโนทัศน์เรื่องจักรพรรดิราช และ 3.มโนทัศน์เรื่องเทวราชาหรือสมมติเทวราช ซึ่งมโนทัศน์ทั้งสามนี้ปรากฎอยู่ในการปกครองและราชประเพณีของไทยบนพื้นฐานของคติเรื่องราชาในสมัยโบราณมาโดยตลอด และสะท้อนถึงพลวัตและพัฒนาการของคติเรื่องราชาตามแต่เงื่อนไขทางสังคมการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์ของยุคสมัย อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า คติเรื่องราชาในจารีตวัฒนธรรมไทยนั้นยึดโยงอยู่กับ “หลักแห่งธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคติพุทธศาสนาเถรวาทเป็นสำคัญ