รายละเอียดหนังสือ
“แบบเรียนหลวงของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2567 มีเนื้อหาประกอบด้วยแบบเรียนภาษาไทยที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) กวีและนักปราชญ์ด้านอักษรศาสตร์คนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่งขึ้นและพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2414 จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และ พิศาลการันต์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่านเขียนภาษาไทย ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นประสมอักษรไปจนถึงระดับอ่านออกเขียนได้ นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในยุคแรกเริ่มปฏิรูปการศึกษาจากแบบโบราณไปสู่ระบบโรงเรียนสมัยใหม่ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า นอกจากต้นฉบับแบบเรียนภาษาไทยทั้ง 6 เรื่องแล้ว ยังได้รวมพิมพ์ข้อเขียน เรื่อง “วิธีสอนหนังสือไทย” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนภาษาไทยของคนไทยในสมัยโบราณ อีกทั้งผู้ตรวจสอบต้นฉบับยังได้เรียบเรียง “ประวัติและผลงานนิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของปูชนียบุคคลผู้สร้างสรรค์แบบเรียนหลวงทั้ง 6 เรื่องไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์ของชาติมาถึงปัจจุบัน