รายละเอียดหนังสือ

สักรวาเป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงในฤดูน้ำหลากช่วงเดือน ๑๑ ถึงเดือน ๑๒ ซึ่งมีงานเทศกาลงานบุญและงานสมโภชต่าง ๆ การเล่นสักรวาได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นสูงมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจ้าของวงสักรวาซึ่งเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์จะพาบริวาร ได้แก่ ผู้บอกบท นักร้องต้นบท ลูกคู่ พร้อมด้วยเครื่องดนตรี คือ โทน ทับ กรับ นิ่ง ลงเรือไปประชุมเรือเล่นสักรวาประชันกับวงอื่น ๆ ผู้บอกบทจะคิดบทให้นักร้องวงของตน ร้องลำนำ มีเนื้อหาทั้งการเกี้ยวพาราสีหรือนำเรื่องจากวรรณคดีมาสมมุติ แจกตัวผู้เล่นแต่ละฝ่าย แล้วให้ผู้เล่นในวงร้องโต้ตอบกันไปมา ความสนุกสนานของการเล่นสักรวาอยู่ที่ผู้บอกบทและผู้เล่นต้องคิดบทให้ทันกับการร้อง ดังนั้นผู้เล่นสักรวาจึงต้องเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบในการประชันกลอนสด โต้ตอบกัน บทสักรวาเป็นวรรณกรรมที่เกิดจากปฏิภาณกวี ที่กวีหรือผู้บอกบทต้องใช้ไหวพริบและความเฉียบคมในการแต่งกลอนสดโต้ตอบกันระหว่างผู้บอกบทสักรวาแต่ละวง บทร้องที่โต้ตอบกันนั้นนับถือกันว่าแต่งดีจนมีผู้จดจำและนำไปใช้เป็นแบบอย่างของการเล่นสักรวาในโอกาสต่อ ๆ มา แต่เมื่อสภาพสังคม ค่านิยม และวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนลดการพึ่งพาอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางหลักในการสัญจร ประกอบกับมีมหรสพความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตมากกว่า ทำให้การเล่นสักรวาเพื่อความบันเทิงหายไปจากวิถีชีวิตของสังคมไทย ทั้งที่บทสักรวาถือเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความชำนาญในชั้นเชิงกระบวนกลอนของกวีที่ถ่ายทอดผ่านการละเล่นเพื่อความรื่นเริง และที่สำคัญสำนวนกลอนเหล่านั้นยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าในเชิงอักษรศาสตร์และวรรณศิลป์ ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้ดำเนินการตรวจสอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ประชุมบทสักรวาหน้าพระที่นั่ง” ประกอบด้วย บทสักรวาเรื่องอิเหนา ร้องถวายในรัชกาลที่ ๓ และ ประชุมบทสักรวา เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ หนังสือเล่มนี้จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจ ได้นำความรู้และกลวิธีในการประพันธ์เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาต่อไป อีกทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดต้นฉบับวรรณคดีไทย อันเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป